วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

ISO 9001


ระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2008

Quality Management System : QMS


      ISO 9001 เป็นมาตรฐานสากลที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานภายในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
      ISO 9001 จึงเป็นระบบบริหารงานคุณภาพมาตรฐานสากล แนวคิดสำคัญของ ISO 9001 คือ การจัดวางระบบบริหารงาน เพื่อประกันคุณภาพซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่ากระบวนการต่าง ๆ ได้รับการควบคุม และสามารถตรวจสอบได้โดยผ่านเอกสารที่ระบุขั้นตอนและวิธีการทำงาน เพื่่อให้มั่นใจได้ว่าบุคลากรในองค์กรรู้หน้าที่ความรับผิดชอบและขั้นตอนต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน โดยต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานมีการจดบันทึกข้อมูล รวมทั้งการตรวจสอบการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามที่ระบุไว้ในเอกสารหรือไม่ และมีการแก้ไขข้อผิดพลาด รวมทั้งมีแนวทางในการป้องกันข้อผิดพลาดเดิม
     ในปัจจุบันมาตรฐาน ISO 9001 จึงกลายเป็นเงื่อนไขหรือข้อกำหนดทางการค้าในการติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศและในประเทศ รวมทั้งเป็นใบเบิกทางไปสู่การค้าในระดับสากลอีกด้วย
 
มาตรฐานคืออะไร ?
 
      มาตรฐานคือ ข้อตกลงที่จัดทำขึ้นเป็นเอกสาร โดยการรวบรวมข้อมูลหรือข้อกำหนดทางเทคนิค (Technical Specifications) หรือวิธีการทำงานที่ถูกต้อง เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป แล้วร่วมกำหนดเป็นเกณฑ์ข้อบังคับขึ้นมาหรือ นิยามคำจำกัดความคุณลักษณะเฉพาะ (Definition of Characteristics) ของสิ่งนั้น ๆ ที่จะทำใ้ห้เกิดความเชื่อมั่นว่า วัสดุ ผลิตภัณฑ์ ขบวนการ หรือการบริการนั้น ๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ  ดังนั้นมาตรฐาน (Standards) คือ ข้อตกลงหรือพันธะร่วมที่ยอมรับระหว่างผู้ผลิตกับผู้รับบริการ หรือเกิดจากเกณฑ์ เฉลี่ยจากสมรรถนะของหน่วยงานและผู้ปฏิบัติงาน หรือ เกิดจากข้อกำหนดด้านวิธีการหรือการทำงาน (Procedure manual หรือ Work Instruction) นั้นเอง
      องค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐาน (International Organization for Standardization : ISO) เป็นองค์กรอิสระ (Non-govermential Organization) จัดตั้งขึ้นในปี คศ.1947 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ กรุงเจนีวา ประเทศสวัสเซอร์แลนด์ มีสมาชิกกว่า 130 ประเทศทั่่วโลก มีพันธกิจ (Mission) ในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามาตรฐานงานต่าง ๆ และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และพัฒนาความร่วมมือในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ อย่างครบวงจร
       องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐาน (International Organization for Standardization) มีเชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า ISO เป็นภาษากรีก ซึ่งมีความหมายว่า "เท่าเทียมกัน" ดังเช่น "ISOMETRIC" ซึ่งมีความหมายว่า "วัดได้เท่ากันหรือขยาดเท่ากัน" หรือ "ISONOMY" ซึ่งหมายถึง "มีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย. เป็นต้น ดังนั้นคำว่า "ISO" จึงไม่ใช่คำที่ย่อมาจากชื่อเต็มขององค์กร
      องค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐาน (Internatioanl Organization for Standardization) ประสพความสำเร็จในการกำหนดมาตรฐาน ต่าง ๆ มากมาย ที่นานาประเทศนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการค้า อุตสาหกรรม และต่อผู้บริโภคเอง
 
มาตรฐานที่ใช้ได้กับทุกองค์กร
 
       ISO 9001 เน้นบทบาทของผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องให้ความสำคัญกับความต้องการ ความคาดหวังของลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้อง องค์กรทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิตหรือภาคบริการทั้งรัฐและเอกชน สามารถนำระบบการบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 ไปใช้ได้ และไม่มีขีดจำกัดว่าต้องใช้กับองค์กรการขนาดใหญ่ที่การลงทุนสูงและบุคลากรจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการให้เทียบเคียงกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงได้ 
 
หลักการของการบริหารงานคุณภาพ มี 8 ประการ
     1.การให้ความสำคัญกับลูกค้า (Customer Focus)
     2.ความเป็นผู้นำ (Leadership)
     3.การมีส่วนร่วมของบุคลากร (Involvement of People)
     4.การบริการเชิงกระบวนการ (Process Approach)
     5.การบริหารที่เป็นระบบ (System Approach)
     6.การรปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continual Improvement)
     7.การตัดสินใจบนพื้นฐานความเป็นจริง (Factual Approach to Decision Making)
     8.ความสัมพันธ์กับผู้ขายเพื่อประโยชน์ร่วมกัน (Mutually Beneficial Supplier Relationship)
 
ประโยชน์ที่ได้รับภายในองค์กร
     1.มีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบยิ่งขึ้น
     2.มีคุณภาพสินค้าที่ดีขึ้น
     3.ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากของเสียได้อย่างเป็นรูปธรรม
     4.เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานดีขึ้น
     5.มีระบบเอกสารที่ดีขึ้น
 
ประโยชน์ที่ได้รับภายนอกองค์กร
     1.ลูกค้าเกิดความมั่นใจในสินค้าและบริการ
     2.ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศได้ง่าย
     3.เพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้า
     4.สร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า
     5.เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
Your Alliance
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น